ไทยแลนด์บุ๊คทาวเวอร์ เมืองหนังสือ อยู่ที่ไหนเบอร์โทรอะไร
หลายคนคงยังไม่รู้จักสถานที่เที่ยวที่นี่ในกรุงเทพ มันคือไทยแลนด์บุ๊คทาวเวอร์ เป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาแล้วเรียกว่าเป็นเมืองหนังสือ ด้วยแนวคิดที่อยากให้กรุงเทพของเราเป็นเมืองหนังสือ เลยต้องการพัฒนาให่มีผู้อ่านหน้าใหม่เกิดขึ้น ลองมาดูกันครับว่าไทยแลนด์บุ๊คทาวเวอร์นั้นอยู่ที่ไหนและมีบเบอร์โทรติดต่ออย่างไร ไม่ธรรมดาเลยสำหรับคนที่คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์แบบนี้กับคนอื่นได้ ลองเข้าไปเยี่ยมชมกันได้แล้ววันนี้นับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ คงจะชี้วัดกันที่ปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตัวเลขจีดีพี หรือรายได้เฉลี่ยของประชากร ฯลฯ
แต่หากดูให้ดีแล้วจะพบว่า ประเทศที่พัฒนาและเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ล้วนมีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ รากฐานวัฒนธรรมการอ่านอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง เราจึงเห็นร้านหนังสือขนาดใหญ่และห้องสมุดจำนวนมากที่มีหนังสือหลากหลายในต่างประเทศ
แม้จะมีการสำรวจพบว่าคนไทยเรามีอัตราเฉลี่ยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัด แต่จำนวนผู้คนที่ล้นหลามในงานบุ๊ค เอ็กซ์โปที่จัดขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง คงสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาการอ่านในบ้านเราคงยังไม่สิ้นหวังนัก และข่าวดีสำหรับบรรดาหนอนหนังสือคือ อีกไม่นานนี้ ประเทศไทยกำลังจะมี "บุ๊ค ทาวเวอร์" อาคารที่เป็นดั่งเมืองในฝันของคนรักหนังสือแห่งแรกในเมืองไทย
"บุ๊ค ทาวเวอร์" คืออะไร
ใครที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ คงจะเคยเห็นอาคารในลักษณะแบบที่เรียกว่า "บุ๊ค ทาวเวอร์" ที่เป็นตึกสูงภายในอาคารเต็มไปด้วยหนังสือมากมาย รอให้ผู้คนมาเลือกซื้อหาไม่ต่างไปจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ผิดแต่ที่สินค้าภายในมีเฉพาะหนังสือล้วนๆ เท่านั้น
ส่วน "บุ๊ค ทาวเวอร์" แห่งแรกในเมืองไทย ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในต้นปี 2549 ข้างหน้านี้ เป็นโครงการ "Thailand book Tower" ของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า "อยากรู้ ได้รู้"
Thailand Book Tower (TBT) บนอาคารเกษตรรุ่งเรืองถนนสาทรเหนือ เป็นเมืองหนังสือแนวตั้ง 9 ชั้น ที่มีพื้นที่กว่า 6,000 ตร.ม. นับเป็นแหล่งจำหน่ายหนังสือที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยรวบรวมหนังสือและนิตยสารจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มาไว้ในหลังคาเดียว เพื่อสร้างชุมชนรักการอ่านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยให้บริการผู้รักการอ่านอย่างครบวงจรในรูปแบบ Speciality Store และ Book Tower
ชาญวิทย์ จารุสมบัติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-การตลาด ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวถึงไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ นี้เกิดจากแนวความคิดที่ว่ายังมีคนไทยอยู่เป็นจำนวนมากที่รักการอ่านหนังสือ โดยสังเกตได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ หรือมหกรรมหนังสือในแต่ละปีมีถึงล้านกว่าคน และในขณะเดียวกันก็ยังมีหนังสือดีๆ อยู่มากมายหลายเล่มที่ยังขาดโอกาสในการโชว์ตัวเอง หรือ visual display ออกมาถึงกลุ่มผู้อ่าน ดังนั้นทางบริษัทจึงได้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าว และได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์หลายแห่งในประเทศไทย ก่อตั้ง เมืองหนังสือหรือไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ แห่งนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักอ่านและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสพบกับหนังสือดีๆ
"และเพื่อเสริมสร้าง reading skill ของคนไทย เพื่อนำไปสู่ความเป็น reading society ที่ควรจะสร้างให้เกิดในสังคมไทยเร็วที่สุด อันจะสอดคล้องกับนโยบายของทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่ต้องการจะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น World Book Capital ให้ได้ในปี 2008 ด้วยเช่นกัน" ชาญวิทย์เสริม
โดยก่อนหน้านี้ทางโครงการได้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาคารหนังสือในต่างประเทศมาแล้ว และได้นำแนวทางการบริหารงาน รวมถึงการจัดวางหนังสือแต่ละชั้น มาปรับใช้ให้เข้ากับคนไทย
"พบว่าในประเทศอย่างญี่ปุ่นก็มีตึกของคิโนะคุนิยะ (Kinokuniya) ประเทศมาเลเซียก็เป็น franchise ของ Borders โดยกลุ่ม Berjaya ซึ่งเปิดร้านที่ Berjaya Times Square ในกัวลาลัมเปอร์ เป็นร้านหนังสือใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย และเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดของ Borders ทั่วโลก พื้นที่ 60,000 ตร.ฟุต ด้วยสินค้ากว่า 200,000 รายการ และสหรัฐเมริกาก็ไปศึกษาที่ บอร์ดเดอร์ (Borders), บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล (Barnes & Noble) ร้านหนังสือเหล่านี้เป็นร้านขนาดใหญ่และมีหนังสือหลากหลายเป็นจำนวนมาก มีการจัด Display โชว์หนังสือแต่ละเล่มได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ผ่านตาผู้ที่เข้าไปใช้บริการได้ง่าย ซึ่งตรงจุดนี้เราก็จะดึงเอาความโดดเด่นของแต่ละแห่ง ในจุดที่เหมาะกับบ้านเรามาปรับใช้ด้วย"
สำหรับเอกลักษณ์ของไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ นี้มีความแตกต่างและโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านประเภทของหนังสือ รูปแบบของอาคาร การจัดแบ่งโซนต่างๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย จำนวนหนังสือที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือมีผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือมาให้บริการตอบคำถามและคำปรึกษาเกี่ยวกับหนังสือ รวมทั้งยังมีระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถค้นหาหนังสือในละชั้นได้ โดยบอกถึงชั้นที่วางหนังสือของแต่ละโซนเลยทีเดียว ทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการของไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์นี้ สะดวกและรวดเร็ว สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร
"จะเห็นว่าในด้าน Functional นั้น TBT เมืองหนังสือแห่งใหม่แห่งแรกของไทย มีพื้นที่ 9 ชั้น ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 6,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนถนนสาทร ใจกลางย่านธุรกิจและการศึกษา มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นเพื่อเป็นงานศิลปะบนถนนสาทร งานดีไซน์อาคารต้องการสื่อถึงความเป็นเมืองหนังสือ รีดดิ้ง โซไซตี้ (Reading Society) ของคนไทย ภาพลักษณ์ของอาคารจะผสมผสานความเป็นหนังสือและหลักศิลาจารึก ในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย โดยภายในอาคารจะเน้นการดีไซน์ ให้ทุก ๆ ชั้น เป็นเมืองหนังสือในแนวโมเดิร์น ที่เข้าถึงทุกกลุ่ม"
ยิ่งไปกว่านั้น TBT ยังมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ เป็นแหล่งรวมร้านหนังสือหลายแห่งและจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มากที่สุดในประเทศไทย ทำให้มีความหลากหลายของหนังสือและนิตยสารในแต่ละประเภท รวมถึงมุมหนังสือหายาก ที่ผู้อ่านสามารถมาเลือกสรรได้ ที่สำคัญคือจะเป็นเมืองหนังสือที่มี กิจกรรมกระตุ้นต่อมความคิดของเยาวชนและครอบครัวทุกๆ วันตลอดทั้งปี ทำให้เป็นเมืองหนังสือที่เต็มไปด้วยสีสันและมีชีวิต สามารถกลับแวะเวียนเข้ามาได้ทุกวัน รวมทั้งมีบริการค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ง่าย ด้วยระบบ Search Engine พร้อมทั้งมีพนักงานที่เป็น Book Specialists และ Book Consultants คอยให้คำแนะนำหนังสือที่ต้องการ
"ส่วนทางด้าน Emotional นั้น บรรยากาศภายเน้นความสบายในการอ่าน ทำให้การอ่านและการเลือกหนังสือเสมือนการพักผ่อน เพื่อให้เมืองหนังสือแห่งนี้เป็นแหล่งรวมผู้รักการอ่านทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเยาวชน วัยรุ่น ครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่รักการอ่าน และ Hub ของนักอ่าน นักเขียน และคนรักหนังสือทั้งหลาย"
ทั้งนี้ ชาญวิทย์ได้ชี้ถึงข้อแตกต่างของ TBT กับร้านหนังสือขนาดใหญ่บนห้างที่กำลังจะเปิดอีกหลายแห่งว่า มีจุดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในด้านของกลุ่มลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการและหนังสือจากแต่ละสำนักพิมพ์ที่มีจำนวนจำกัด
"กลุ่มลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการร้านหนังสือในห้างนั้น ก็จะไปเดินร้านหนังสือเพื่อฆ่าเวลา ไม่ได้เจาะจงที่จะไปอ่านหรือซื้ออย่างจริงจัง ในขณะที่ TBT มีพื้นที่สำหรับสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะ ทำให้สามารถนำหนังสือที่มีอยู่มาไว้รองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีความหลากหลายและได้เปรียบในเชิงลึกมากกว่าร้านที่ไปกระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า และกลุ่มลูกค้าเองก็เป็นกลุ่ม Lover Book โดยเฉพาะ ที่ต้องการมาเพื่อซื้อหรืออ่านหนังสือ รวมทั้งหวังที่จะให้เป็นแหล่งรวมของบรรดานักเขียน นักอ่านได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างอิสรเสรี"
และด้วยความที่สถานที่นี้อยู่ในแหล่งสถานศึกษา ก็จะทำให้เกิดศูนย์กลางของครอบครัว ที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถมานั่งอ่านหนังสือเพื่อรอรับลูก หรือเด็กๆ จะเข้ามาทำกิจกรรมกระตุ้นต่อมความคิดที่ทาง TBT จัดเอาไว้ให้ได้ทุกๆ วัน
หนอนหนังสือ สายส่ง สำนักพิมพ์เฮรับ
ล่าสุดมีสำนักพิมพ์หลายแห่งที่ตอบรับมาร่วมกับทางโครงการไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ หรือ TBT อาทิ อักษรา ฟอร์ คิดส์, อทิตตา, หมอชาวบ้าน, สยามอินเตอร์, สุขภาพใจ, มติชน, แสงดาว, แบร์, อนิเมท, สารคดี, มูลนิธิเด็ก, ดวงกมล, พัฒนาศึกษา, นานมีบุ๊คส์, แปลนฟอร์คิดส์, ชมรมบัณฑิตแนะแนวและไทยวัฒนาพาณิชย์, กลุ่มสนพ.ทางเลือก 14 สนพ. ได้แก่ โกมลคีมทอง, โอเพนบุ๊คส์, สวนเงิน ฯลฯ และยังมีสำนักพิมพ์ที่ฝากจำหน่ายอีกหลายแห่ง และคาดว่าจะทยอยตอยรับมาอีกเรื่อยๆ
สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกสำนักพิมพ์ต่างๆ ในการเช่าพื้นที่นั้น ชาญวิทย์รับประกันว่าให้โอกาสสำนักพิมพ์ทุกขนาดอย่างเท่าเทียม ส่วนทางด้านราคาค่าเช่าพื้นที่จะเป็นการตกลงแบบ Win – Win ของทั้งไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ และเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งที่สมเหตุสมผลที่สุด
"เราไม่ได้คัดเลือกผู้เข้ามาเช่าพื้นที่ตามขนาดหรือความมีชื่อเสียง แต่จะเป็นลูกค้าที่พูดคุยกันแล้วมีความคิดตรงกันคือต้องการผลักดันให้เกิดเมืองหนังสือให้กับสังคมไทย ต้องการสร้าง Reading Society ร่วมกัน รวมถึงการร่วมกันสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ไทยให้พัฒนาขึ้นไปอีก เพราะเมืองหนังสือหรือไทยแลนด์ บุ๊ค ทาวเวอร์ นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหม่และยิ่งใหญ่ในเมืองไทย"
โดยผู้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของ TBT เป็นสำนักพิมพ์ที่มีความถนัดในเนื้อหาของหนังสือที่แตกต่างกันออกไป และต้องการสร้างจุดขายและสร้างความแตกต่างของหนังสือในสำนักพิมพ์ตัวเองออกมา เพราะแต่ละสำนักพิมพ์จะมีพื้นที่ร้าน หน้าร้าน สามารถสร้างสรรค์รูปแบบที่จะพรีเซ้นท์หนังสือของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และเจ้าของพื้นที่ที่ไม่ใช่สำนักพิมพ์ก็มีเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นบริการเครื่องดื่มหรืออาหารว่างมากกว่า เพราะจะมี Food Zone เต็มรูปแบบอยู่ที่ชั้น 7 อยู่แล้ว
ชาญวิทย์กล่าวต่อไปว่าในส่วนที่เป็นสำนักพิมพ์ ณ ตอนนี้เริ่มมีรูปแบบของจุดเด่นคร่าวๆ บ้างแล้ว อาทิ สนพ.เคล็ดไทย พื้นที่ 50 ตร.ม. มีจุดขายอยู่ที่หนังสือเป็นมีหนังสือหายากและมีเสน่ห์ในตัวเอง ซึ่งแต่เดิมก็มีแฟนคลับหนังสือของสำนักพิมพ์นี้เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว, สนพ.แสงดาว พื้นที่ 32 ตร.ม. มีจุดขายคือหนังสือ พล นิกร กิมหงวน, สนพ.นานมี บุ๊คส์ พื้นที่ 80 ตร.ม. จุดขายอยู่ที่จัดร้านเป็น library book shop, สนพ.แบร์ พื้นที่ 25 ตร.ม.จุดขายอยู่ตรงที่เป็น Mystery Shop เหมาะสำหรับกลุ่มที่ชอบอ่านหนังสือแนวลึกลับ ส่วนทางด้าน สนพ.แปลนทอยส์ พื้นที่ 36 ตร.ม. มีจุดเด่นมากตรงที่เป็นศูนย์รวมของผลิตภัณฑ์ของเด็กเล่นที่มีสินค้ามากที่สุดถึงกว่า 300 SKU(items) ซึ่งถือเป็นพื้นที่แรกในไทยของแปลนทอยส์เลยทีเดียว
ไม่เพียงแค่สำนักพิมพ์เท่านั้น สายส่งขนาดใหญ่อย่าง "เคล็ดไทย" เองก็สนใจมาเข้าร่วมและสนับสนุนโครงการนี้เช่นกัน ซึ่ง วินัย ชาติอนันต์ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท เคล็ดไทย จำกัด ก็ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาโครงการ TBT นี้ด้วย โดยวินัยได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงที่เป็นที่ทราบกันดีในวงการหนังสือ ถึงพื้นที่และระยะเวลาในการวางจำหน่ายหนังสือในแต่ละร้านที่มีจำกัด จัดเป็นระยะ "3 เดือนอันตราย" ถ้าขายไม่ดีก็อยู่ไม่ได้
"แต่ระบบของผม ผมให้โอกาสร้านหนังสือเป็นปีเลยนะ ตามเงื่อนไขสัญญาที่แลกเปลี่ยนกับสำนักพิมพ์ที่เอาหนังสือมาให้เราวาง แต่มันก็ขึ้นอยู่กับร้านด้วย ถ้าร้านเขาให้ความสำคัญกับหนังสือ แต่ที่ผ่านมามันไม่ได้ หลายสำนักพิมพ์ที่เราส่งหนังสือให้กับเขา เขาก็เปรยๆ มาเหมือนกันว่า ร้านค้าบางแห่งไม่มีพื้นที่ให้กับหนังสือของเขาเลย อย่างร้านเชนบางร้านก็ให้ความสำคัญกับหนังสือ บางร้านก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งที่ผมให้โอกาสในการขายหนังสือแต่ละเล่มเป็นปี เคลียร์บัญชีและเคลียร์ยอดขายทุกๆ เดือน แต่หนังสือบางเล่มบางที 2-3 เดือนก็ตีกลับมาแล้ว ก็มีปัญหาไม่มีที่ระบายอีก"
"ปัญหาคือเราเป็นสายส่ง เราก็อยากจะให้มีจุดขายที่จะวางหนังสืออย่างต่อเนื่อง ถ้าให้วางเสียหน่อยมันก็จะได้ขาย สังเกตดูหลายๆ เล่ม ถ้าเราให้โอกาสขายมันขายได้จริงๆ หรือไปขายในงานมหกรรมก็ตาม คือการลดมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเหมือนกัน แต่ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะหนังสือมันไม่มีโอกาสให้คนได้เห็น ที่ผ่านมาเราเป็นสายส่ง ไม่มีหน้าร้าน การมีบุ๊คทาวเวอร์จะเป็นการให้โอกาสหนังสือแต่ละสำนักพิมพ์ที่เขาไม่มีที่วางในร้าน ให้เขาไปอยู่จุดที่เรามีพื้นที่ เพื่อจะได้เห็นว่าหน้าตาหนังสือเป็นอย่างไร เห็นว่าแนวคิดของนักเขียนเป็นอย่างไร ผมว่ามันได้ประโยชน์ตรงนั้น"
การมีบุ๊คทาวเวอร์ในเมืองไทยจึงเป็นโอกาสอันดีของสำนักพิมพ์เล็กๆ ซึ่งแม้จะไม่มีเงินทุนเปิดร้าน แต่ก็มีพื้นที่ขนาดใหญ่ให้วางหนังสือฝากขายได้นานๆ
"เบื้องต้นมันมีพื้นที่เปล่าสำหรับรองรับหนังสือของสำนักพิมพ์ที่ยังไม่พร้อมจะลงทุนเช่าพื้นที่มีร้านของตัวเอง ซึ่งตรงนี้จะเป็นศูนย์กลางที่จะรับหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่เขาจะจัดหมวดหมู่และประเภทหนังสือให้ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อหนังสือของบางสำนักพิมพ์ที่อาจไม่มีที่ยืน หรือหลุดจากแผงจากร้านค้าบางแห่ง และเป็นโอกาสให้กับคนอ่านที่ต้องการหนังสือที่พิมพ์มาแล้วหลายปีแต่หาตามร้านทั่วไปไม่ได้"
ส่วนประเด็นที่เกรงกันว่าการมีบุ๊คทาวเวอร์จะยิ่งไปซ้ำเติมร้านหนังสือรายย่อย วินัยก็คำนึงถึงจุดนี้อยู่เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขามองในแง่ที่เป็นผลดีต่อภาพรวมวงการหนังสือไทย
"จริงๆ แล้วที่ผมมองคือ ถ้าไปตกกระทบกับร้านเล็กๆ คงไม่เหมาะ แต่ถ้าร้านหนังสือมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะวางหนังสือได้ทุกเรื่องทุกเล่ม ตรงนี้ก็เป็นการให้พื้นที่ขายหนังสือที่ไม่มีพื้นที่ของตัวเอง ผมมองเป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์มากกว่า ถ้ามองในแง่ดีมันก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่สำนักพิมพ์ที่ยังไม่พร้อมจะมีที่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมันมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตึก TBT เขาเปิดโอกาสให้สำนักพิมพ์ที่พร้อมจะมาลงในการเปิดร้านเช่าพื้นที่ ซึ่งมันก็สามารถเอื้อประโยชน์ให้สำนักพิมพ์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางได้"
เมื่อสำรวจจากกระแสตอบรับของบรรดาหนอนหนังสือ ส่วนใหญ่ต่างยินดีและเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เช่น สมาชิกในเว็บบอร์ดโต๊ะห้องสมุด เว็บไซต์พันทิป แหล่งชุมนุมนักอ่านนักเขียนแหล่งใหญ่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งต่างให้ความสนใจและตั้งตารอไปเดินชมและเลือกซื้อหนังสือเมื่อ TBT เปิดให้บริการในปีหน้า แม้จะมีบางส่วนเป็นกังวลว่าการมีบุ๊คทาวเวอร์ในเมืองไทย อาจส่งผลกระทบต่อร้านหนังสือเล็กๆ ขนาดย่อย เช่นดังกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
ทั้งนี้ "บุ๊คทาวเวอร์" หรือเมืองหนังสือในฝันที่ชาวห้องสมุดต้องการ ควรจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ หนึ่ง สามารถหาซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยวางขายทั่วไป หรือหนังสือที่ออกมานานแล้วได้, สอง มีฐานข้อมูลส่วนกลางให้หาว่าหนังสือที่ต้องการมีวางขายร้านใด และขายราคาเท่าไร, สาม มีหนังสือทุกเล่มที่พิมพ์ขาย ไม่ใช่ขายเฉพาะแต่ของสนพ. ใหญ่, สี่ มีบริการสั่งซื้อ ในกรณีที่เป็นหนังสือต่างประเทศ, ห้า มีส่วนลดให้ผู้ซื้อ มีบริการจัดส่ง มีห่อปก มีมุมให้นั่งอ่าน มุมกาแฟ ฯลฯ และสุดท้าย มีการจัดลดราคาครั้งมโหฬารปีละสองครั้ง แล้วยุบสัปดาห์หนังสือฯ ที่หลายคนมองว่าเป็น "สัปดาห์ลดราคาหนังสือ" ไปซะ
"พูดง่าย ๆ คือเอาร้านหนังสือทั้งหมดตอนนี้มารวมกัน บวกฐานข้อมูลของทุกร้าน บวกส่วนลดหรือบริการ... เอาเป็นว่า ถ้าเปลี่ยนจากโครงการสร้างบุ๊คทาวเวอร์บนพื้นที่ 6000 ตร.ม. เป็นห้องสมุดขนาด 3000 ตร.ม. คงจะดีเลิศประเสริฐศรีกว่านี้" นักอ่านตัวยงผู้ที่ใช้นามจอว่า "ติ่ม" กล่าว
แต่ในวันที่บ้านเรายังเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ไม่สำเร็จ ความหวังของนักอ่านไทยที่ต้องการมีห้องสมุดในฝันคงต้องรอไปก่อน อย่างน้อย...การมีบุ๊คทาวเวอร์ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความฝันถึงเมืองหนังสือในอนาคต
*******
มีอะไรใน "บุ๊ค ทาวเวอร์"
ชั้น 1 "Top Hit Zone" โซนหนังสือขายดีและหนังสือแนะนำที่คัดสรรแล้วจากทุกสำนักพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เครื่องเขียน บริการถ่ายเอกสาร ไปรษณีย์ และร้านกาแฟ
ชั้น 2 "Feeling Zone" โซนวรรณกรรมนานาประเภท และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่
ชั้น 3 "Living Zone" โซนหนังสือวาไรตี้ และไลฟ์สไตล์
ชั้น 4 "Kids Zone" โซนหนังสือสำหรับเด็ก แม่และเด็ก และมุมของเล่น
ชั้น 5 "Brain Zone" โซนตำราทุกประเภท
ชั้น 6 "World Zone" โซนหนังสือภาษาต่างประเทศ
ชั้น 7 "Food Zone" โซนอาหารและเครื่องดื่ม 300 ที่นั่ง
ชั้น 8 "Activity Zone" พื้นที่จัดกิจกรรม อาทิ สัมมนา เปิดตัวหนังสือใหม่
ชั้น 9 "Learning Zone" โซนแห่งการเรียนรู้ ทั้งภาษา ดนตรี และศิลปะ สำหรับสนพ. และผู้ประกอบการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น