ภาษาไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาษาไทย | |
---|---|
ออกเสียง | [pʰāːsǎːtʰāːj] |
ภาษาแม่ใน | ไทย |
จำนวนผู้พูด |
20 ล้านคน (ภาษาแม่)
60-65 ล้านคน (ในฐานะสองภาษา) (ไม่พบวันที่) |
ตระกูลภาษา | ไท-กะได
|
ระบบการเขียน | อักษรไทย, อักษรเบรลล์ไทย |
สถานภาพทางการ | |
ภาษาทางการ | ไทย |
ผู้วางระเบียบ | ราชบัณฑิตยสถาน |
รหัสภาษา | |
ISO 639-1 | th |
ISO 639-2 | tha |
ISO 639-3 | tha |
Linguasphere | 47-AAA-b |
ภาษาไทย หรือ ภาษาไทยถิ่นกลาง เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไท ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีนและนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย
เนื้อหา
[ซ่อน]ชื่อภาษาและที่มา[แก้]
คำว่า ไทย หมายความว่า อิสรภาพ เสรีภาพ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ใหญ่ ยิ่งใหญ่ เพราะการจะเป็นอิสระได้จะต้องมีกำลังที่มากกว่า แข็งแกร่งกว่า เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก แม้คำนี้จะมีรูปเหมือนคำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต แต่แท้ที่จริงแล้ว คำนี้เป็นคำไทยแท้ที่เกิดจากกระบวนการสร้างคำที่เรียกว่า 'การลากคำเข้าวัด' ซึ่งเป็นการลากความวิธีหนึ่ง ตามหลักคติชนวิทยา คนไทยเป็นชนชาติที่นับถือกันว่า ภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นภาษาอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล เมื่อคนไทยต้องการตั้งชื่อประเทศว่า ไท ซึ่งเป็นคำไทยแท้ จึงเติมตัว ยเข้าไปข้างท้าย เพื่อให้มีลักษณะคล้ายคำในภาษาบาลีสันสกฤตเพื่อความเป็นมงคลตามความเชื่อของตน ภาษาไทยจึงหมายถึงภาษาของชนชาติไทยผู้เป็นไทนั่นเอง
ภาษาไทยสมัยจอมพล ป.[แก้]
ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการปฏิรูปภาษาไทยโดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย การเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ที่สังเกตได้มีดังนี้
- ตัดพยัญชนะ ฃ ฅ ฆ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ ฬ แล้วใช้ ข ค ค ด ต ถ ท ธ น ส ส ล แทนตามลำดับ
- พยัญชนะ ญ ถูกตัดเชิงออกกลายเป็น
- พยัญชนะสะกดของคำที่ไม่ได้มีรากมาจากคำบาลี-สันสกฤต เปลี่ยนเป็นพยัญชนะสะกดตามแม่โดยตรง เช่น อาจ เปลี่ยนเป็น อาด, สมควร เปลี่ยนเป็น สมควน
- เปลี่ยน อย เป็น หย เช่น อยาก ก็เปลี่ยนเป็น หยาก
- เลิกใช้คำควบไม่แท้ เช่น จริง ก็เขียนเป็น จิง, ทรง ก็เขียนเป็น ซง
- ร หัน ที่มิได้ออกเสียง /อัน/ ส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนเป็นสระอะตามด้วยตัวสะกด เช่น อุปสรรค เปลี่ยนเป็น อุปสัค, ธรรม เปลี่ยนเป็น ธัม
- เลิกใช้สระใอไม้ม้วน เปลี่ยนเป็นสระไอไม้มลายทั้งหมด
- เลิกใช้ ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ เปลี่ยนไปใช้การสะกดตามเสียง เช่น พฤกษ์ ก็เปลี่ยนเป็น พรึกส์, ทฤษฎี ก็เปลี่ยนเป็น ทริสดี
- ใช้เครื่องหมายวรรคตอนอย่างภาษาต่างประเทศ เช่นมหัพภาคเมื่อจบประโยค จุลภาคเมื่อจบประโยคย่อยหรือวลี อัฒภาคเชื่อมประโยค และจะไม่เว้นวรรคถ้ายังไม่จบประโยคโดยไม่จำเป็น
หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐนิยมก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย อักขรวิธีภาษาไทยได้กลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง [1]
หน่วยเสียง[แก้]
ภาษาไทยประกอบด้วยหน่วยเสียงสำคัญ 3 ประเภท[2] คือ
- หน่วยเสียงพยัญชนะ
- หน่วยเสียงสระ
- หน่วยเสียงวรรณยุกต์
พยัญชนะ[แก้]
พยัญชนะต้น[แก้]
ภาษาไทยแบ่งแยกรูปแบบเสียงพยัญชนะก้องและพ่นลม ในส่วนของเสียงกักและเสียงผสมเสียดแทรก เป็นสามประเภทดังนี้
- เสียงไม่ก้อง ไม่พ่นลม
- เสียงไม่ก้อง พ่นลม
- เสียงก้อง ไม่พ่นลม
หากเทียบกับภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปมีเสียงแบบที่สองกับสามเท่านั้น เสียงแบบที่หนึ่งพบได้เฉพาะเมื่ออยู่หลัง s ซึ่งเป็นเสียงแปรของเสียงที่สอง
เสียงพยัญชนะต้นโดยรวมแบ่งเป็น 21 เสียง ตารางด้านล่างนี้บรรทัดบนคือสัทอักษรสากล บรรทัดล่างคืออักษรไทยในตำแหน่งพยัญชนะต้น (อักษรหลายตัวที่ปรากฏในช่องให้เสียงเดียวกัน) อักษรโรมันที่กำกับเป็นระบบถอดอักษรของราชบัณฑิตยสถาน
ริมฝีปาก ทั้งสอง | ริมฝีปากล่าง -ฟันบน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม m | [n] ณ,น n | [ŋ] ง ng | ||||||||||||
เสียงกัก | [p] ป p | [pʰ] ผ,พ,ภ ph | [b] บ b | [t] ฏ,ต t | [tʰ] ฐ,ฑ,ฒ,ถ,ท,ธ th | [d] ฎ,ด d | [k] ก k | [kʰ] ข,ฃ,ค,ฅ,ฆ* kh | [ʔ] อ** - | ||||||
เสียงเสียดแทรก | [f] ฝ,ฟ f | [s] ซ,ศ,ษ,ส s | [h] ห,ฮ h | ||||||||||||
เสียงผสมเสียดแทรก | [t͡ɕ] จ c(h) | [t͡ɕʰ] ฉ,ช,ฌ ch | |||||||||||||
เสียงรัว | [r] ร r | ||||||||||||||
เสียงเปิด | [w] ว w | [j] ญ,ย y | |||||||||||||
เสียงเปิดข้างลิ้น | [l] ล,ฬ l |
- * ฃ และ ฅ เลิกใช้แล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาษาไทยสมัยใหม่มีพยัญชนะเพียง 42 ตัวอักษร
- ** อ ที่เป็นพยัญชนะต้นหมายถึงเสียงเงียบ และดังนั้นมันจึงถูกพิจารณาว่าเป็นเสียงกัก เส้นเสียง
พยัญชนะสะกด[แก้]
ถึงแม้ว่าพยัญชนะไทยมี 44 รูป 21 เสียงในกรณีของพยัญชนะต้น แต่ในกรณีพยัญชนะสะกดแตกต่างออกไป สำหรับเสียงสะกดมีเพียง 8 เสียง และรวมทั้งไม่มีเสียงด้วย เรียกว่า มาตรา เสียงพยัญชนะก้องเมื่ออยู่ในตำแหน่งตัวสะกด ความก้องจะหายไป
ในบรรดาพยัญชนะไทย นอกจาก ฃ และ ฅ ที่เลิกใช้แล้ว ยังมีพยัญชนะอีก 6 ตัวที่ใช้เป็นตัวสะกดไม่ได้คือ ฉ ผ ฝ ห อ ฮ ดังนั้นมันจึงเหลือเพียง 36 ตัวตามตาราง อักษรโรมันที่กำกับเป็นระบบถอดอักษรของราชบัณฑิตยสถาน
ริมฝีปาก ทั้งสอง | ริมฝีปากล่าง -ฟันบน | ปุ่มเหงือก | หลังปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | เส้นเสียง | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | [m] ม m | [n] ญ,ณ,น,ร,ล,ฬ n | [ŋ] ง ng | |||||||
เสียงกัก | [p̚] บ,ป,พ,ฟ,ภ p | [t̚] จ,ช,ซ,ฌ,ฎ,ฏ,ฐ,ฑ,ฒ, ด,ต,ถ,ท,ธ,ศ,ษ,ส t | [k̚] ก,ข,ค,ฆ k | [ʔ] * - | ||||||
เสียงเปิด | [w] ว o(w) | [j] ย i(y) |
- * เสียงกัก เส้นเสียง จะปรากฏเฉพาะหลังสระเสียงสั้นเมื่อไม่มีพยัญชนะสะกด
กลุ่มพยัญชนะ[แก้]
แต่ละพยางค์ในคำหนึ่ง ๆ ของภาษาไทยแยกออกจากกันอย่างชัดเจน (ไม่เหมือนภาษาอังกฤษที่พยัญชนะสะกดอาจกลายเป็นพยัญชนะต้นในพยางค์ถัดไป หรือในทางกลับกัน) ดังนั้นพยัญชนะหลายตัวของพยางค์ที่อยู่ติดกันจะไม่รวมกันเป็นกลุ่มพยัญชนะเลย
ภาษาไทยมีกลุ่มพยัญชนะเพียงไม่กี่กลุ่ม ประมวลคำศัพท์ภาษาไทยดั้งเดิมระบุว่ามีกลุ่มพยัญชนะ (ที่ออกเสียงรวมกันโดยไม่มีสระอะ) เพียง 11 แบบเท่านั้น เรียกว่า พยัญชนะควบกล้ำ หรือ อักษรควบกล้ำ
ริมฝีปาก | ปุ่มเหงือก | เพดานอ่อน | ||||
---|---|---|---|---|---|---|
พยัญชนะเดี่ยว | /p/ ป | /pʰ/ ผ,พ | /t/ ต | /k/ ก | /kʰ/ ข,ฃ,ค,ฅ | |
เสียงรัว | /r/ ร | /pr/ ปร | /pʰr/ พร | /tr/ ตร | /kr/ กร | /kʰr/ ขร,ขร,คร |
เสียงเปิด | /l/ ล | /pl/ ปล | /pʰl/ ผล,พล | /kl/ กล | /kʰl/ ขล,คล | |
/w/ ว | /kw/ กว | /kʰw/ ขว,ฃว,คว,ฅว |
พยัญชนะควบกล้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากคำยืมภาษาต่างประเทศ อาทิ อินทรา จากภาษาสันสกฤต พบว่าใช้ /tʰr/ (ทร - thr), ฟรี จากภาษาอังกฤษ พบว่าใช้ /fr/ (ฟร - fr) เป็นต้น เราสามารถสังเกตได้ว่า กลุ่มพยัญชนะเหล่านี้ถูกใช้เป็นพยัญชนะต้นเท่านั้น ซึ่งมีเสียงพยัญชนะตัวที่สองเป็น ร ล หรือ ว และกลุ่มพยัญชนะจะมีเสียงไม่เกินสองเสียงในคราวเดียว การผันวรรณยุกต์ของคำขึ้นอยู่กับไตรยางศ์ของพยัญชนะตัวแรก
สระ[แก้]
เสียงสระในภาษาไทยแบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ สระเดี่ยว สระประสม และสระเกิน สะกดด้วยรูปสระพื้นฐานหนึ่งตัวหรือหลายตัวร่วมกัน (ดูที่ อักษรไทย)
สระเดี่ยว หรือ สระแท้ คือสระที่เกิดจากฐานเพียงฐานเดียว มีทั้งสิ้น 18 เสียง อักษรโรมันที่กำกับเป็นระบบถอดอักษรของราชบัณฑิตยสถาน
สระประสม คือสระที่เกิดจากสระเดี่ยวสองเสียงมาประสมกัน เกิดการเลื่อนของลิ้นในระดับสูงลดลงสู่ระดับต่ำ ดังนั้นจึงสามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สระเลื่อน" มี 3 เสียงดังนี้
- เ–ีย /iːa/ ประสมจากสระ อี และ อา ia
- เ–ือ /ɯːa/ ประสมจากสระ อือ และ อา uea
- –ัว /uːa/ ประสมจากสระ อู และ อา ua
ในบางตำราจะเพิ่มสระสระประสมเสียงสั้น คือ เ–ียะ เ–ือะ –ัวะ ด้วย แต่ในปัจจุบันสระเหล่านี้ปรากฏเฉพาะคำเลียนเสียงเท่านั้น เช่น เพียะ เปรี๊ยะ ผัวะ เป็นต้น
สระเสียงสั้น | สระเสียงยาว | สระเกิน | |||
---|---|---|---|---|---|
ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด | ไม่มีตัวสะกด | มีตัวสะกด |
–ะ | –ั–¹ | –า | –า– | –ำ | (ไม่มี) |
–ิ | –ิ– | –ี | –ี– | ใ– | (ไม่มี) |
–ึ | –ึ– | –ือ | –ื– | ไ– | ไ––⁵ |
–ุ | –ุ– | –ู | –ู– | เ–า | (ไม่มี) |
เ–ะ | เ–็– | เ– | เ–– | ฤ, –ฤ | ฤ–, –ฤ– |
แ–ะ | แ–็– | แ– | แ–– | ฤๅ | (ไม่มี) |
โ–ะ | –– | โ– | โ–– | ฦ, –ฦ | ฦ–, –ฦ– |
เ–าะ | –็อ– | –อ | –อ–² | ฦๅ | (ไม่มี) |
–ัวะ | (ไม่มี) | –ัว | –ว– | ||
เ–ียะ | (ไม่มี) | เ–ีย | เ–ีย– | ||
เ–ือะ | (ไม่มี) | เ–ือ | เ–ือ– | ||
เ–อะ | (ไม่มี) | เ–อ | เ–ิ–³, เ–อ–⁴ |
สระเกิน คือสระที่มีเสียงของพยัญชนะปนอยู่ มี 8 เสียงดังนี้
- –ำ /am, aːm/ am ประสมจาก อะ + ม (อัม)เช่น ขำ บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาม)เช่น น้ำ
- ใ– /aj, aːj/ ai ประสมจาก อะ + ย (อัย)เช่น ใจ บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาย)เช่น ใต้
- ไ– /aj, aːj/ ai ประสมจาก อะ + ย (อัย)เช่น ไหม้ บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาย)เช่น ไม้
- เ–า /aw, aːw/ ao ประสมจาก อะ + ว (เอา)เช่น เกา บางครั้งออกเสียงยาวเวลาพูด (อาว)เช่น เก้า
- ฤ /rɯ/ rue,ri,roe ประสมจาก ร + อึ (รึ)เช่น ฤกษ์ บางครั้งเปลี่ยนเป็น /ri/ (ริ)เช่น กฤษณะ หรือ /rɤː/ (เรอ)เช่นฤกษ์
- ฤๅ /rɯː/ rue ประสมจาก ร + อือ (รือ)
- ฦ /lɯ/ lue ประสมจาก ล + อึ (ลึ)
- ฦๅ /lɯː/ lue ประสมจาก ล + อือ (ลือ)
บางตำราก็ว่าสระเกินเป็นพยางค์ ไม่ถูกจัดว่าเป็นสระ
สระบางรูปเมื่อมีพยัญชนะสะกด จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระ สามารถสรุปได้ตามตารางด้านขวา
- ¹ คำที่สะกดด้วย –ะ + ว นั้นไม่มี เพราะซ้ำกับ –ัว แต่เปลี่ยนไปใช้ เ–า แทน
- ² คำที่สะกดด้วย –อ + ร จะลดรูปเป็น –ร ไม่มีตัวออ เช่น พร ศร จร ซึ่งก็จะไปซ้ำกับสระ โ–ะ ดังนั้นคำที่สะกดด้วย โ–ะ + ร จึงไม่มี
- ³ คำที่สะกดด้วย เ–อ + ย จะลดรูปเป็น เ–ย ไม่มีพินทุ์อิ เช่น เคย เนย เลย ซึ่งก็จะไปซ้ำกับสระ เ– ดังนั้นคำที่สะกดด้วย เ– + ย จึงไม่มี
- ⁴ พบได้น้อยคำเท่านั้นเช่น เทอญ เทอม
- ⁵ มีพยัญชนะสะกดเป็น ย เท่านั้น เช่น ไทย ไชย
วรรณยุกต์[แก้]
เสียงวรรณยุกต์[แก้]
คำเป็น[แก้]
เสียงวรรณยุกต์ ในภาษาไทย (เสียงดนตรีหรือเสียงผัน) จำแนกออกได้เป็น 5 เสียง ได้แก่
เสียงวรรณยุกต์ | ตัวอย่าง | |||
---|---|---|---|---|
เสียง | ระดับเสียง | อักษรไทย | สัทอักษรสากล | |
หน่วยเสียง phonemic | หน่วยเสียง phonetic | |||
สามัญ | กลาง | นา | /nāː/ | [naː˧] |
เอก | กึ่งต่ำ-ต่ำ หรือ ต่ำอย่างเดียว | หน่า | /nàː/ | [naː˨˩] หรือ [naː˩] |
โท | สูง-ต่ำ | น่า/หน้า | /nâː/ | [naː˥˩] |
ตรี | กึ่งสูง-สูง หรือ สูงอย่างเดียว | น้า | /náː/ | [naː˦˥] หรือ [naː˥] |
จัตวา | ต่ำ-กึ่งสูง | หนา | /nǎː/ | [naː˩˩˦] หรือ [naː˩˦] |
คำตาย[แก้]
เสียงวรรณยุกต์ในคำตายสามารถมีได้แค่เพียง 3 เสียงวรรณยุกต์ คือ เสียงเอก เสียงโท และ เสียงตรี โดยขึ้นอยู่กับความสั้นความยาวของสระ เสียงเอกสามารถออกเสียงควบคู่กับได้สระสั้นหรือยาว เสียงตรีสามารถออกเสียงควบคู่กับสระสั้น และ เสียงโทสามารถออกเสียงควบคู่กับสระยาว อาทิ
เสียง | สระ | ตัวอย่าง | ||
---|---|---|---|---|
อักษรไทย | หน่วยเสียง phonemic | หน่วยเสียง phonetic | ||
เอก | สั้น | หมัก | /màk/ | [mak̚˨˩] |
ยาว | หมาก | /màːk/ | [maːk̚˨˩] | |
ตรี | สั้น | มัก | /mák/ | [mak̚˦˥] |
โท | ยาว | มาก | /mâːk/ | [maːk̚˥˩] |
แต่อย่างใดก็ดี ในคำยืมบางคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ คำตายสามารถมีเสียงตรีควบคู่กับสระยาว และเสียงโทควบคู่กับสระสั้นได้ด้วย อาทิ
เสียง | สระ | ตัวอย่าง | |||
---|---|---|---|---|---|
อักษรไทย | หน่วยเสียง phonemic | หน่วยเสียง phonetic | อังกฤษ | ||
ตรี | ยาว | มาร์ค | /máːk/ | [maːk̚˦˥] | Marc, Mark |
สตาร์ต | /sa.táːt/ | [sa.taːt̚˦˥] | start | ||
บาส(เกตบอล) | /báːt(.kêt.bɔ̄n)/ | [baːt̚˦˥(.ket̚˥˩.bɔn˧)] | basketball | ||
โท | สั้น | เมคอัพ | /méːk.ʔâp/ | [meːk̚˦˥.ʔap̚˥˩] | make-up |
รูปวรรณยุกต์[แก้]
ส่วน รูปวรรณยุกต์ มี 4 รูป ได้แก่
รูปวรรณยุกต์ | ชื่อ | |
---|---|---|
ไทย | สัทอักษร | |
-่ | ไม้เอก | /máːj.ʔèːk/ |
-้ | ไม้โท | /máːj.tʰōː/ |
-๊ | ไม้ตรี | /máːj.trīː/ |
-๋ | ไม้จัตวา | /máːj.t͡ɕàt.ta.wāː/ |
การเขียนเสียงวรรณยุกต์[แก้]
ทั้งนี้คำที่มีรูปวรรณยุกต์เดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมีระดับเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน ขึ้นอยู่กับระดับเสียงของอักษรนำด้วย เช่น ข้า (ไม้โท) ออกเสียงโทเหมือน ค่า (ไม้เอก) เป็นต้น
รูปวรรณยุกต์ | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|
ไม่เขียน | -่ | -้ | -๊ | -๋ | ||
อักษร | สูง | เสียงจัตวา | เสียงเอก | เสียงโท | - | - |
ตัวอย่าง | ขา | ข่า | ข้า | - | - | |
กลาง | เสียงสามัญ | เสียงเอก | เสียงโท | เสียงตรี | เสียงจัตวา | |
ตัวอย่าง | ปา | ป่า | ป้า | ป๊า | ป๋า | |
ต่ำ | เสียงสามัญ | เสียงโท | เสียงตรี | - | - | |
ตัวอย่าง | คา | ค่า | ค้า | - | - |
ไวยากรณ์[แก้]
ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำในภาษาไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปไม่ว่าจะอยู่ในกาล (tense) การก (case) มาลา (mood) หรือวาจก (voice) ใดก็ตาม คำในภาษาไทยไม่มีลิงก์ (gender) ไม่มีพจน์ (number) ไม่มีวิภัตติปัจจัย แม้คำที่รับมาจากภาษาผันคำ (ภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย) เป็นต้นว่าภาษาบาลีสันสกฤต เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป คำในภาษาไทยหลายคำไม่สามารถกำหนดหน้าที่ของคำตายตัวลงไปได้ ต้องอาศัยบริบทเข้าช่วยในการพิจารณา เมื่อต้องการจะผูกประโยค ก็นำเอาคำแต่ละคำมาเรียงติดต่อกันเข้า ภาษาไทยมีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา คำคุณศัพท์จะวางไว้หลังคำนาม ลักษณะทางวากยสัมพันธ์โดยรวมแล้วจะเป็นแบบ 'ประธาน-กริยา-กรรม'
วากยสัมพันธ์[แก้]
ลักษณะทางวากยสัมพันธ์หรือการเรียงลำดับคำในประโยคโดยรวมแล้วจะเรียงเป็น 'ประธาน-กริยา-กรรม' (subject-verb-object หรือ SVO) อย่างใดก็ดี ในบางกรณีเช่นในกรณีที่มีการเน้นความหมายของกรรม (topicalization) สามารถเรียงประโยคเป็น กรรม-ประธาน-กริยา ได้ด้วย แต่ต้องใช้คำชี้เฉพาะเติมหลังคำกรรมคำนั้น อาทิ
กรณี | ลำดับคำ | ตัวอย่าง |
---|---|---|
ธรรมดา (unmarked) | ประธาน-กริยา-กรรม | วัวกินหญ้าแล้ว |
เน้นกรรม (object topicalization) | กรรม-ประธาน-กริยา | หญ้านี้ วัวกินแล้ว หรือ หญ้าเนียะ วัวกินแล้ว |
สำเนียงย่อย[แก้]
สำเนียงภาษาถิ่นของภาษาไทยสามารถแบ่งได้ 7 สำเนียงใหญ่ คือ:
สำเนียงกรุงเทพ[แก้]
สำเนียงกรุงเทพพบได้หลักๆในกรุงเทพฝั่งพระนคร, จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดชลบุรี และตามอำเภอเมืองต่างๆ สำเนียงกรุงเทพเป็นสำเนียงทางการของภาษาไทย, เป็นสำเนียงหลักสำหรับผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในการพูดภาษาไทยซึ่งปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่สามารถสื่อสารสำเนียงนี้ได้ดีเท่ากับเจ้าของสำเนียง เพราะการขยายตัวของสื่อ, สิ่งพิมพ์, รายการโทรทัศน์, วิทยุ, สื่อออนไลน์ และอื่นๆ
เป็นสำเนียงทางการของภาษาไทย เดิมทีเป็นการผสมผสานกันระหว่างสำเนียงอยุธยาและชาวไทยเชื้อสายจีนรุ่นหลังที่พูดไทยแทนกลุ่มภาษาจีน ลักษณะเด่นคือมีการออกเสียงที่ชัดเจนและแข็งกระด้างซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาแต้จิ๋ว การออกเสียงพยัญชนะ สระ การผันวรรณยุกต์ที่ในภาษาไทยมาตรฐาน มาจากสำเนียงถิ่นนี้ในขณะที่ภาษาไทยสำเนียงอื่นล้วนเหน่อทั้งสิ้น คำศัพท์ที่ใช้ในสำเนียงกรุงเทพจำนวนมากได้รับมาจากกลุ่มภาษาจีนเช่นคำว่า โป๊, เฮ็ง, อาหมวย, อาซิ่ม ซึ่งมาจากภาษาแต้จิ๋ว และจากภาษาจีนเช่น ถู(涂), ชิ่ว(去 อ่านว่า"ชู่") และคำว่า ทาย(猜 อ่านว่า "ชาย") เป็นต้น เนื่องจากสำเนียงกรุงเทพได้รับอิทธิพลมาจากภาษาจีนดังนั้นตัวอักษร "ร" มักออกเสียงเหมารวมเป็น "ล" หรือคำควบกล่ำบางคำถูกละทิ้งไปด้วยเช่น รู้ เป็น ลู้, เรื่อง เป็น เลื่อง หรือ ประเทศ เป็น ปะเทศ เป็นต้นสร้างความลำบากให้แก่ต่างชาติที่ต้องการเรียนภาษาไทย แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่พูดสำเนียงถิ่นนี้ก็สามารถออกอักขระภาษาไทยตามมาตรฐานได้อย่างถูกต้องเพียงแต่มักเผลอไม่ค่อยออกเสียง
สำเนียงอยุธยา[แก้]
สำเนียงอยุธยาพบได้หลักๆในจังหวัดอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดอื่นๆในภาคกลางส่วนใหญ่ พบได้ในการแสดงโขนแบบโบราณซึ่งไม่ต้องการความแข็งกระด้างแบบสำเนียงกรุงเทพ หรือภาพยนตร์ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเช่นสุริโยไท และ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นต้น พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่จะฝึกให้พูดสำเนียงถิ่นนี้เพราะเป็นสำเนียงชนชั้นสูงสมัยก่อน
การออกเสียงในสำเนียงอยุธยาจะค่อนข้างเอื้อนเสียงเหมือนร้องเพลงซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาลาวตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองทำให้มีความเหน่อเล็กน้อยการออกอักขระ "ร" และ "ล" จะเข้มงวดกว่าสำเนียงกรุงเทพมาก สำเนียงอยุธยาจะเหน่อคล้ายสำเนียงสุพรรณบุรี แต่สำเนียงสุพรรณบุรีมีความเหน่อมากกว่า
สำเนียงสุพรรณบุรี[แก้]
สำเนียงสุพรรณบุรี หรือเรียกว่า พูดเหน่อ พบได้ในสามจังหวัดคือ จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดระยอง ปัจจุบันไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าทำไมภาษาไทยสำเนียงสุพรรณบุรีถึงพบในจังหวัดระยอง
การออกเสียงใกล้เคียงกับสำเนียงอยุธยาแทบทุกอย่าง เพียงแต่มีความเหน่อมากกว่าเพราะทั้งสำเนียงสุพรรณบุรีและสำเนียงอยุธยาได้รับอิทธิพลมาจากภาษาลาวเหมือนกัน ปัจจุบันสำเนียงเหน่อชนิดนี้มักเป็นที่ถูกล้อเลียนดูชวนขบขำ บางตำราเรียนหรือนักวิชาการบางท่านเหมารวมสำเนียงสุพรรณบุรีและสำเนียงอยุธยาเข้าด้วยกัน บุคคลที่มีชื่อเสียงที่พูดสำเนียงนี้เช่นพรพิมล เฟื่องฟุ้ง เป็นต้น
สำเนียงธนบุรี[แก้]
สำเนียงถิ่นนี้มีความใกล้เคียงทั้งสำเนียงกรุงเทพและอยุธยาก็คือ มีความเหน่อเล็กน้อยและ "ร" และ "ล" จะเข้มงวดเหมือนสำเนียงอยุธยาและมีการออกอักขระชัดเจนแบบกรุงเทพ ตัวอย่างบุคคลที่พูดสำเนียงถิ่นนี้เช่น สุหฤท สยามวาลา, สุประวัติ ปัทมสูต และ รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค เป็นต้น
สำเนียงพิษณุโลก[แก้]
สำเนียงพิษณุโลกเป็นสำเนียงโบราณสมัยกรุงสุโขทัย ปัจจุบันพบได้ในจังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียง
การออกเสียงสำเนียงนี้จะค่อนข้างคล้ายภาษาไทยถิ่นเหนือมีคำเมืองปนอยู่มาก มีหกวรรณยุกต์เหมือนกับภาษาไทยถิ่นเหนือ แต่การออกอักขระเสียงเหมือนกับสำเนียงอยุธยาแทบทุกอย่างและเสียงจะห้วนกว่าสำเนียงอยุธยาและกรุงเทพ, "ร" และ "ล" จะเข้มงวดน้อยกว่าสำเนียงอยุธยา แต่ไม่ถูกละทิ้งบ่อยๆแบบสำเนียงกรุงเทพ, ออกเสียงพยัญชนะตัว "ฉ" กับ "ช", "ถ" กับ "ท", "ผ" กับ "พ" และ "ฝ" กับ "ฟ" แยกออกจากกัน บุคคลที่มีชื่อเสียงที่พูดสำเนียงนี้อย่างเช่น พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ, บุญธรรม ฮวดกระโทก, มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล และ กรภพ จันทร์เจริญ เป็นต้น
สำเนียงประจวบ[แก้]
สำเนียงประจวบพบได้ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบางส่วนของจังหวัดเพชรบุรี ภาษาไทยสำเนียงถิ่นนี้มีความใกล้เคียงกับภาษาไทยถิ่นใต้และได้รับอิทธิพลจากภาษามอญเป็นอย่างมาก
การออกเสียงหรือสำเนียงประจวบคีรีขันธ์นั้นใกล้เคียงกับภาษาไทยถิ่นใต้เป็นอย่างมากจนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นภาษาใต้แต่ด้วยลักษณะสำนวนคำและคำศัพท์บางคำนำมาจากภาษาใต้และภาษามอญก็ยังคงความเป็นภาษาไทยถิ่นกลางอยู่เทียบเท่ากับภาษาจิ้นที่มีความใกล้เคียงกับภาษาจีนอย่างมาก
สำเนียงโคราช[แก้]
การยืมคำจากภาษาอื่น[แก้]
ภาษาไทยเป็นภาษาหนึ่งที่มีการยืมคำมาจากภาษาอื่นๆค่อนข้างสูงมาก มีทั้งแบบยืมมาจากภาษาในตระกูลภาษาไท-กะได ด้วยกันเอง และข้ามตระกูลภาษา โดยส่วนมากจะยืมมาจากภาษาบาลีภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ซึ่งมีทั้งรักษาคำเดิม ออกเสียงใหม่ สะกดใหม่ หรือเปลี่ยนความหมายใหม่ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
บางครั้งเป็นการยืมมาซ้อนคำ เกิดเป็นคำซ้อน คือ คำย่อยในคำหลัก มีความหมายเดียวกันทั้งสอง เช่น
- ดั้งจมูก โดยมีคำว่าดั้ง เป็นคำในภาษาไท ส่วนจมูก เป็นคำในภาษาเขมร
- อิทธิฤทธิ์ มาจาก อิทธิ (iddhi) ในภาษาบาลี ซ้อนกับคำว่า ฤทธิ (ṛddhi) ในภาษาสันสกฤต โดยทั้งสองคำมีความหมายเดียวกัน
คำจำนวนมากในภาษาไทย ไม่ใช้คำในกลุ่มภาษาไท แต่เป็นคำที่ยืมมาจากกลุ่มภาษาสันสกฤต-ปรากฤต โดยมีตัวอย่างดังนี้
- รักษารูปเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
- วชิระ (บาลี:วชิระ [vajira]), วัชระ (สันส:วัชร [vajra])
- ศัพท์ (สันส:ศัพทะ [śabda]), สัท (เช่น สัทอักษร) (บาลี:สัททะ [sadda])
- อัคนี และ อัคคี (สันส:อัคนิ [agni] บาลี:อัคคิ [aggi])
- โลก (โลก) - (บาลี-สันส:โลกะ [loka])
- ญาติ (ยาด) - (บาลี:ญาติ (ยา-ติ) [ñāti])
- เสียง พ มักแผลงมาจาก ว
- เพียร (มาจาก พิริยะ และมาจาก วิริยะ อีกทีหนึ่ง) (สันส:วีรยะ [vīrya], บาลี:วิริยะ [viriya])
- พฤกษา (สันส:วฤกษะ [vṛkṣa])
- พัสดุ (สันส: [vastu] (วัสตุ); บาลี: [vatthu] (วัตถุ))
- เสียง -อระ เปลี่ยนมาจาก -ะระ
- หรดี (หอ-ระ-ดี) (บาลี:หรติ [harati] (หะระติ))
- เสียง ด มักแผลงมาจาก ต
- หรดี (หอ-ระ-ดี) (บาลี:หรติ [harati] (หะระติ))
- เทวดา (บาลี:เทวะตา [devatā])
- วัสดุ และ วัตถุ (สันส: [vastu] (วัสตุ); บาลี: [vatthu] (วัตถุ))
- กบิลพัสดุ์ (กะ-บิน-ละ-พัด) (สันส: [kapilavastu] (กปิลวัสตุ); บาลี: [kapilavatthu] (กปิลวัตถุ))
- เสียง บ มักแผลงมาจาก ป
- กบิลพัสดุ์ (กะ-บิน-ละ-พัด) (สันส: [kapilavastu] (กปิลวัสตุ); บาลี: [kapilavatthu] (กปิลวัตถุ))
- บุพเพ และ บูรพ (บาลี: [pubba] (ปุพพ))
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น